ทำอย่างไรเมื่อกู้ไม่ผ่าน?

ทำอย่างไรเมื่อกู้ไม่ผ่าน? 

          กว่าจะได้เป็นเจ้าของบ้านสักหลังหรือคอนโดมิเนียมสักห้องต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ก็ต้องผ่านขั้นตอนการกู้เงินและรอลุ้นผลใช้เวลาประมาณ 10-20 วันทำการ แม้จะเตรียมตัวเป็นอย่างดี แต่ก็ยังกู้ไม่ผ่าน ทั้งที่จ่ายเงินจองไปแล้ว ทางเลือกที่เหลืออยู่คงไม่ใช่การปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป แต่ต้องทบทวนว่า เราควรจะเดินหน้าต่อหรือหยุดไว้แค่นี้ดี โดยหาทางแก้ไขตามสาเหตุที่ทำให้กู้ไม่ผ่าน

 

เอกสารไม่ครบ 

          การพิจารณาอนุมัติเงินกู้ของแต่ละธนาคารใช้เวลาไม่เท่ากัน แต่มีขั้นตอนการพิจารณาที่คล้ายคลึงกัน คือ ผู้กู้ต้องติดต่อขอแบบฟอร์มและยื่นแสดงความจำนงขอกู้ พร้อมยื่นหลักฐานประกอบการขอกู้ให้ครบตามที่ธนาคารกำหนด ซึ่งแต่ละธนาคารมีเงื่อนไขแตกต่างกัน โดยเอกสารพื้นฐานส่วนใหญ่จะประกอบด้วย สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน รายการเดินบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน และหนังสือรับรองเงินเดือน เป็นต้น ซึ่งในบางกรณีที่เรายื่นเอกสารไม่ครบก็อาจจะทำให้ยื่นกู้ไม่ผ่านในครั้งแรกได้

 

ฐานเงินเดือนไม่มั่นคงเพียงพอ 

          ส่วนใหญ่ธนาคารจะพิจารณาเอกสารรายได้ของผู้ขอสินเชื่อที่มีความมั่นคงและสม่ำเสมอจากสลิปเงินเดือนและบัญชีธนาคารที่มีเงินเดือนเข้าเป็นประจำทุกเดือนอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ในกรณีที่ถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อ เพราะฐานเงินเดือนไม่มั่นคงหรือไม่มากเพียงพอ เราอาจจะลองหาผู้กู้ร่วมเพิ่ม เพื่อให้ฐานเงินเดือนมากขึ้นและมั่นคงขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปธนาคารมักให้วงเงินกู้ประมาณ 15-30 เท่าของรายได้ อาจจะลดหลั่นมากน้อยตามกลุ่มอาชีพ และมักจะกำหนดเงินงวดต่อเดือนประมาณ 25-30% ของรายได้รวมผู้กู้ เช่น รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน จะผ่อนประมาณ 5,000-6,000 บาทต่อเดือนตามการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร

 

ภาระหนี้มากเกินไป 

          การอนุมัติสินเชื่อเป็นเงินก้อนใหญ่อาจจะทำให้ธนาคารเกิดความเสี่ยงได้ หากพิจารณาไม่ละเอียดรอบคอบเพียงพอ ดังนั้น ธนาคารจึงต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ไม่ให้เกินจุดเสี่ยงที่ธนาคารสามารถยอมรับได้ ส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้ผู้กู้มีหนี้สินได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ รวมถึงภาระหนี้บัตรเครดิตที่จะนำไปพิจารณาคิดเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนด้วย หรือหากกดเงินสดบ่อยๆ และมีการชำระขั้นต่ำเป็นประจำ ยิ่งมีผลต่อการพิจารณาของธนาคาร

 

ประวัติทางการเงินไม่ดี 

          หากเคยผิดนัดชำระหนี้จนติดแบล็กลิสต์ ประวัติทางการเงินของผู้ขอสินเชื่อเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ธนาคารใช้พิจารณาและปฏิเสธการขอสินเชื่อ ในกรณีมีประวัติค้างชำระ ตามเกณฑ์ธนาคารส่วนใหญ่จะต้องรอ 2 ปี แต่มีบางธนาคารที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยธนาคารจะพิจารณาประวัติการค้างชำระ ได้แก่ ระยะเวลาการค้างชำระ รายได้ต่อเดือน เงินออม และหลักทรัพย์ปลอดภาระ เป็นต้น

          ในกรณีลูกค้าเคยเป็นผู้ค้ำประกันให้กับผู้กู้ทุกราย กฎหมายห้ามมิให้สถาบันการเงินนำส่งข้อมูลมาที่เครดิตบูโร แต่หากลูกค้าถูกสถาบันการเงินฟ้องเป็นคดี ลูกค้าอาจจะถูกตรวจสอบข้อมูลคดีจากฐานข้อมูลอื่น และสถาบันการเงินตรวจสอบข้อมูลคดีดังกล่าว สถาบันการเงินอาจนำข้อมูลคดีนั้นมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อและปฏิเสธสินเชื่อของลูกค้าจากข้อมูลคดีนั้นได้

 

ตัดใจและขอคืนเงินจอง

          ถ้าพิจารณารอบด้านแล้วมองไม่เห็นหนทางที่จะเดินหน้าต่อ เราคงต้องตัดใจถอยออกมา ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นสิทธิของเราที่จะได้รับเงินจองคืน เว้นแต่จะมีระบุไว้ในสัญญาว่าไม่จ่ายคืนเงินจองในกรณีที่กู้ไม่ผ่าน เพราะตามกฎหมายแล้วเงินจองหรือเงินมัดจำไม่ใช่เงินที่ตกลงกันเพื่อเป็นการชำระหนี้ล่วงหน้า แต่เป็นหลักฐานที่แสดงว่าสัญญาซื้อทำกันไว้จริง และเป็นหลักประกันว่า ผู้จองซื้อที่เป็นผู้วางเงินมัดจำจะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อผู้รับจองตามข้อตกลงในสัญญาจองซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 377

          ในกรณีกู้ไม่ผ่านไม่สามารถโทษเป็นความผิดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ และไม่ใช่ความผิดของลูกหนี้ จึงถือเป็นการหลุดพ้นจากการชำระหนี้ซื้อบ้านกับทางโครงการ และโครงการย่อมไม่มีสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 และมาตรา 372 ดังนั้น โครงการต้องคืนเงินจองทั้งหมดคืนให้ หากไม่คืน เราสามารถโต้แย้งสิทธิที่จะได้รับเงินจองคืนตามกฎหมาย และสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเรียกให้โครงการคืนเงินดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 55

 

ที่มา https://www.ddproperty.com